วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

กีฬา(แบดมินตัน)

















































แบดมินตัน


แบดมินตัน (Badminton) เป็นกีฬาที่ได้รับการวิจารณ์เป็นอย่างมากเพราะไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดถึงที่มาของกีฬาประเภทนี้ คงมีแต่หลักฐานบางอย่างที่ทำให้ทราบว่ากีฬาแบดมินตันมีเล่นกันในยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษตอนปลายศตวรรษที่ 17 และจากภาพสน้ำมันหลายภาพได้ยืนยันว่ากีฬาแบดมินตันเล่นกันอย่างแพร่หลายในพระราชวงศ์ของราชสำนักต่างๆ ในทวีปยุโรป แม้ว่าจะเรียกกันภายใต้ชื่ออื่นก็ตาม
ประวัติของกีฬาแบดมินตันบันทึกได้แน่นอนในปี พ.ศ. 2413 ปรากฏว่ามีการเล่นกีฬาลูกขนไก่เกิดขึ้นที่เมืองปูนา (Poona) ในประเทศอินเดีย เป็นเมืองเล็กๆ ห่างจากเมืองบอมเปย์ประมาณ 50 ไมล์ โดยได้รวมการเล่นสองอย่างเข้าด้วยกันคือ การเล่นปูนาของประเทศอินเดีย และการเล่นไม้ตีกับลูกขนไก่ (Battledore Shuttle Cock) ของยุโรป ในระยะแรกๆ การเล่นจะเล่นกันเพียงแต่ในหมู่นายทหารของกองทัพ และสมาชิกชนชั้นสูงของอินเดีย จนกระทั่งมีนายทหารอังกฤษที่ไปประจำการอยู่ที่เมืองปูนา นำการเล่นตีลูกขนไก่นี้กลับไปอังกฤษ และเล่นกันอย่างกว้างขวาง ณ คฤหาสน์แบดมินตัน (Badminton House) ของดยุคแห่งบิวฟอร์ด ที่กล๊อสเตอร์เชอร์ ในปี พ.ศ. 2416 เกมกีฬาตีลูกขนไก่เลยถูกเรียกว่า แบดมินตัน ตามชื่อคฤหาสน์ของดยุคแห่งบิวฟอร์ดตั้งแต่นั้นมา
กีฬาแบดมินตันเริ่มแพร่หลายในประเทศแถบภาคพื้นยุโรป เพราะเป็นเกมที่คล้ายเทนนิส แต่สามารถเล่นได้ภายในตัวตึก โดยไม่ต้องกังวลต่อลมหรือหิมะในฤดูหนาว ชาวยุโรปที่อพยพไปสู่ทวีปอเมริกา ได้นำกีฬาแบดมินตันไปเผยแพร่ รวมทั้งประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียและออสเตรเลียที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ต่างนำเกมแบดมินตันไปเล่นยังประเทศของตนอย่างแพร่หลาย เกมกีฬาแบดมินตันจึงกระจายไปสู่ส่วนต่างๆ ของโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย
การเล่นแบดมินตันในระยะแรกๆ มิได้มีกฎเกณฑ์ แต่เป็นเพียงตีโต้ลูกกันไปมาไม่ให้ลูกตกพื้นเท่านั้น เส้นแบ่งแดนก็ใช้ตาข่ายผูกโยงระหว่างต้นไม้สองต้นไม่ได้คำนึงถึงเรื่องต่ำสูง เล่นกันข้างละไม่น้อยกว่า 4 คน ส่วนมาจะเล่นทีมละ 6 ถึง 9 คน ผู้เล่นแต่งตัวตามสบาย สุภาพสตรีสวมกระโปรงยาวทั้งชุด ใส่หมวกติดผ้าลายลูกไม้ สุภาพบุรุษแต่งสากลผูกโบว์ไทด์ เพราะกีฬาแบดมินตันได้รับความนิยมแพร่หลายออกไปตามบ้านข้าราชการ พ่อค้า คหบดี และประชาชน
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2436 ได้มีการจัดตั้งสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศอังกฤษขึ้น ซึ่งนับเป็นสมาคมแบดมินตันแห่งแรกของโลก มีการจัดแข่งขันแบดมินตันชิงชนะเลิศแห่งประเทศอังกฤษ หรือที่เรียกกันว่า ออลอิงแลนด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา ได้ตั้งกฎเกณฑ์ของสนามมาตรฐานขึ้นคือ ขนาดกว้าง 22 ฟุต ยาว 45 ฟุต (22 x 45) เป็นสนามขนาดมาตรฐานประเภทคู่ที่ใช้ในปัจจุบัน ตั้งแต่นั้นมาการปรับปรุงดัดแปลงในเรื่องอุปกรณการเล่นได้กระทำให้ดีขึ้นเป็นลำดับ ต่อมาได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ประเทศในเอเซียอาคเนย์ที่มีการเล่นกีฬาแบดมินตันและได้รับความนิยมสูงสุดคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย นอกจากประเทศอังกฤษแล้วการเล่นที่น่าดูมีขึ้นที่ประเทศแคนาดาและเดนมาร์ก ด้วยเหตุผลที่ควรสนใจอย่างกว้างขวางทั่วโลกในกีฬาประเภทนี้ การแข่งขันระหว่างประเทศจึงได้จัดให้มีขึ้นในปี พ.ศ. 2445 และตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา จำนวนประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาแบดมินตันระหว่างประเทศมีมากว่า 31 ประเทศ
แบดมินตันได้กลายเป็นเกมกีฬาที่เล่นกันระหว่างชาติ โดยมีการยกทีมข้ามประเทศเพื่อแข็งขันระหว่างชาติในทวีปยุโรป ในปี พ.ศ. 2468 กลุ่มนักกีฬาของประเทศอังกฤษได้แข่งขันกับกลุ่มนักกีฬาประเทศแคนาดา ห้าปีหลังจากนั้นพบว่าประเทศแคนาดามีสโมสรสำหรับฝึกแบดมินตันมาตฐานแทบทุกเมือง
ในปี พ.ศ. 2477 สมาคมแบดมินตันของประเทศอังกฤษเป็นผู้นำในการก่อตั้งสหพันธ์แบดมินตันระหว่างประเทศ โดยมีชาติต่างๆ อีก 8 ชาติคือ แคนาดา เดนมาร์ก อังกฤษ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สก๊อตแลนด์ และเวลล์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงลอนดอน ปัจจุบันมีประเทศที่อยู่ในเครือสมาชิกกว่า 60 ประเทศที่ขึ้นต่อสหพันธ์แบดมินตันระหว่างประเทศ (I.B.F.) สหพันธ์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดและควบคุมกติการะเบียบข้อบังคับต่างๆ ของการแข่งขันกีฬาแบดมินตันทั่วโลก
ในปี พ.ศ. 2482 Sir George Thomas นักแบดมินตันอาวุโสชาวอังกฤษเป็นผู้มอบถ้วยทองราคา 5,000 ปอนด์ เพื่อมอบเป็นรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศประเภทชายในการแข่งขันแบดมินตันระหว่างประเทศ ซึ่งสหพันธ์แบดมินตันได้รับไว้และดำเนินการตามประสงค์นี้ แม้ว่าตามทางการจะเรียกว่า การแข่งขันชิงถ้วยชนะเลิศแบดมินตันระหว่างประเทศ แต่นิยมเรียกกันว่า โธมัสคัพ (Thomas Cup) การแข่งขันจะจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยสหพันธ์ได้แบ่งเขตการแข่งขันของชาติสมาชิกออกเป็น 4 โซน คือ
1. โซนยุโรป
2. โซนอเมริกา
3. โซนเอเชีย
4. โซนออสเตรเลเซีย (เดิมเรียกว่าโซนออสเตรเลีย)
วิธีการแข่งขันจะแข่งขันชิงชนะเลิศภายในแต่ละโซนขึ้นก่อน แล้วให้ผู้ชนะเลิศแต่ละโซนไปแข่งขันรอบอินเตอร์โซนเพื่อให้ผู้ชนะเลิศทั้ง 4 โซนไปแข่งขันชิงชนะเลิศกับทีมของชาติที่ครอบครองดถ้วยโธมัสคัพอยู่ ซึ่งได้รับเกียรติไม่ต้องแข่งขันในรอบแรกและรอบอินเตอร์โซน ชุดที่เข้าแข่งขันประกอบด้วยผู้เล่นอย่างน้อย 4 คน การที่จะชนะเลิศนั้นจะตัดสินโดยการรวมผลการแข่งขันของประเภทชายเดี่ยว 5 คุ่ และประเภทชายคู่ 4 คู่ รวม 9 คู่ และใช้เวลาการแข่งขัน 2 วัน การแข่งขันชิงถ้วยโธมัสคัพครั้งแรก จัดให้มีขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2491-2492
ต่อมาในการแข่งขันแบดมินตันโธมัสคัพ ครั้งที่ 8 ปีพ.ศ. 2512-2513 สหพันธ์ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการแข่งขันเล็กน้อย โดยให้ชาติที่ครอบครองถ้วยอยู่นั้นเข้าร่วมแข่งขันในรอบอินเตอร์โซนด้วย โดยวิธีการจับสลากแล้วแบ่งออกเป็น 2 สาย ผู้ชนะเลิศแต่ละสายจะได้เข้าแข่งขันชิงชนะเลิศโธมัสคัพรอบสุดท้ายต่อไปสาเหตุที่สหพันธ์เปลี่ยนแปลงการแข่งขันใหม่นี้ เนื่องจากมีบางประเทศที่ชนะเลิศได้ครอบครองถ้วยโธมัสคัพไม่รักษาเกียรติที่ได้รับจากสหพันธ์ไว้ โดยพยายามใช้ชั้นเชิงที่ไม่ขาวสะอาดรักษาถ้วยโธมัสคัพไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า สหพันธ์จึงต้องเปลี่ยนข้อบังคับให้ชาติที่ครอบครองถ้วยอยู่นั้นลงแข่งขันในรอบอินเตอร์โซนดังกล่าวด้วย
กีฬาแบดมินตันได้แพร่หลายขึ้น แม้กระทั่งในกลุ่มประเทศสังคมนิยมก็ได้มีการเล่นเบดมินตันอย่างกว้างขวางและมีการบรรจุแบดมินตันเข้าไว้ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ เซียพเกมส์ (ซีเกมส์ในปัจจุบัน) การแข่งขันกีฬาของประเทศในเครือจักภพสหราชอาณาจักร รวมทั้งการพิจารณาแบดมินตันเข้าสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ล้วนแต่เป็นเครื่องยืนยันว่า แบดมินตันได้กลายเป็นกีฬาสากลแล้วอย่างแท้จริงประวัติผู้ริเริ่มกีฬาแบดมินตัน
จอห์น ลอเรน บอลด์วิน ผู้ริเริ่มกีฬาแบดมินตันขึ้นเป็นครั้งแรกโดยจัดการเล่นที่ คฤหาสน์ แบดมินตัน (Badmintion House) ในปราสาทของท่านดยุค แห่งบิวฟอร์ด ในกลอสเตอร์ชาร์ ประเทศอังกฤษ บอลด์วินมีความคิดเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ว่ากันประมาณ 60 ปีกว่า ของคริสต์ศตวรรษที่แล้ว
บอลด์วิน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2352 ได้รับการศึกษาในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด เขาสนใจกีฬาคริกเกต และละครมาก เขามีความชำนาญในกีฬาหลายชนิด และได้ก่อตั้งสโมสรในกรุงลอนดอน (London) หลายแห่งจนได้ชื่อว่า "ราชาสโมสร" ได้มีนิตยสารฉบับหนึ่งชื่อ "แวนิตี้แฟร์" ได้กล่าวว่า "เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษทีเดียวที่ชื่อเสียงของเขายิ่งใหญ่ในวงการสังคมสโมสร ซึ่งทุกคนเชื่อฟังโดยความเคารพ และเขาเก่งไม่มีใครเท่าเทียมได้ ในการสร้างข้อบังคับ และเป็นผู้ชี้ขาดเกี่ยวกับปัญหาทั่วไป และกำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลต่างๆจากลักษณะดังกล่าวนี้ เราจะคิดไม่ได้หรือว่า เขาเป็นผู้วางกฎข้อบังคับกีฬาแบดมินตันขึ้นเป็นครั้งแรกสุดถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม"
แวนิตี้แฟร์ บอกให้ทราบว่า "เขาเป็นสหายคนสำคัญของท่านดยุคแห่งบิวฟอร์ด" ชีวิตในระยะหลังบอลด์วินได้ไปอาศัยอยู่ใกล้ๆกับวิหาร Tintern Abbey ห่างจากคฤหาสน์แบดมินตันไปทางตะวันตกประมาณ 32 กิโลเมตร เมื่ออยู่ที่นั่นเขาได้รับขนานนามว่า ท่านบิดาแห่งทินเทิน ขณะนั้นเขาแก่ลงมาก ความชราก็ไม่ได้ทำให้เขาลดหย่อนงานอันเป็นที่ยอมรับกันเลย

ประวัติแบดมินตันในประเทศไทย

การเล่นแบดมินตันได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในราวปี พ.ศ. 2456 โดยเริ่มเล่นกีฬาแบดมินตันแบบมีตาข่าย โดยพระยานิพัทยกุลพงษ์ ได้สร้างสนามขึ้นที่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองสมเด็จเจ้าพระยาธนบุรี แล้วนิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายออกไป ส่วนมากเล่นกันตามบ้านผู้ดีมีตระกูล วังเจ้านาย และในราชสำนัก การเล่นแบดมินตันครั้งนั้น นิยมเล่นข้างละ 3 คนกันมาก ประมาณปี พ.ศ. 2462 สโมสรกลาโหมได้เป็นผู้จัดแข่งขันแบดมินตันทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจัดการแข่งขัน 3 ประเภทได้แก่ประเภทเดี่ยว ประเภทคู่ และประเภทสามคน ปรากฏว่าทีมแบดมินตันบางขวางนนทบุรี (โรงเรียนราชวิทยาลัยบางขวางนนทบุรี) ชนะเลิศทุกประเภท นอกจากนี้มีนักกีฬาแบดมินตันฝีมือดีเดินทางไปแข่งขันยังประเทศใกล้เคียงอยู่บ่อยๆ
ต่อมาปี พ.ศ. 2494 พระยาจินดารักษ์ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นสมาคมชื่อว่า "สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย" เมื่อแรกตั้งมีอยู่ 7 สโมสร คือ สโมสรสมานมิตร สโมสรบางกอก สโมสรนิวบอย สโมสรยูนิตี้ สโมสร ส.ธรรมภักดี สโมสรสิงห์อุดม และสโมสรศิริบำเพ็ญบุญ ซึ่งในปัจจุบันนี้เหลือเป็นสโมสรสมาชิกของสมาคมอยู่เพียง 2 สโมสร คือสโมสรนิวบอย และสโมสรยูนิตี้เท่านั้น และในปีเดียวกัน สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติด้วย สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยมีนักกีฬาแบดมินตันที่มีฝีมือดีอยู่มาก และจากการที่ได้เข้าแข่งขันในรายการต่างๆของโลกได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งโธมัสคัพ อูเบอร์คัพ และการแข่งขันออลอิงแลนด์ ซึ่งวงการแบดมินตันถือว่าเป็นการแข่งขันชิงชนะเลิศของโลกประเภทรายบุคคล ซึ่งนักกีฬาของประเทศไทยก็เคยได้ตำแหน่งรองชนะเลิศทั้งประเภทชายเดี่ยวและชายคู่มาแล้ว
วงการแบดมินตันของไทยยกย่อง นายประวัติ ปัตตพงศ์ (หลวงธรรมนูญวุฒิกร) เป็นบิดาแห่งวงการแบดมินตันของประเทศไทย
ปัจจุบันกีฬาแบดมินตันในประเทศไทยเป็นที่นิยมกันมาก เล่นกันทั่วประเทศทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย มีการเรียนการสอนในโรงเรียนในสถาบันอุดมศึกษา มีสนามแบดมินตันอยู่ทั่วประเทศ มีอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งผลิตได้เอง มีการอบรมฝึกสอนกีฬาแบดมินตันโดยองค์กรที่มีมาตรฐาน มีผู้ฝึกสอนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ทำงานเต็มเวลา มีกรรมการผู้ตัดสินที่เป็นมาตรฐาน มีรายการแข่งขันภายในประเทศที่จัดขึ้นในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 20 รายการ มีนักกีฬาที่มีความสามารถติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ทั้งชายและหญิง ภายใต้การทำงานของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ที่จริงจังและเข้มแข็ง เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยคงจะก้าวหน้าไปเป็นผู้นำในกีฬาแบดมินตันของโลกในโอกาสข้างหน้าอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น